ทำไม การศึกษาญี่ปุ่นถึงพัฒนา ?

สิงหาคม 21, 2012 by: 0
Visit 2,985 views

ทำไมเราจึงควรเรียนรู้การศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ประเทศนี้มีอะไรดีหรือ? วันนี้มองการศึกษาโลกจะพาชาว Interscolarship ทุกคนมารู้จักกับการศึกษาในประเทศที่ขึ้นชื่อว่า มีคุณภาพการศึกษาที่มีคุณภาพอย่าง “ประเทศญี่ปุ่น” กันครับ

หลายคนอาจรู้จักญี่ปุ่นในหลากหลายมุมมอง เช่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่น่าไปเที่ยว มีทั้งภูเขาไฟฟูจิ  ดอกซากุระที่บานสะพรั่งในฤดูใบไม้ผลิ การอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนแบบญี่ปุ่น (onsen) รถไฟหัวกระสุนความเร็วสูง (shinkansen) ประเทศที่พ่ายแพ้สงครามโลก ถูกระเบิดปรมาณูทำลายที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ

                               YouTube Preview Image

รวมถึงเรื่องความมีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา การเคารพผู้อาวุโส ขยัน มานะ และอดทน ของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่องความมีระเบียบวินัย จะเห็นได้ชัดเจนจากเหตุการณ์การเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และเกิดสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา เหตุการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ สถานที่สำคัญต่างๆ มีคนตายจำนวนมาก รวมทั้งการขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม แต่คนญี่ปุ่นก็ยังไม่ละทิ้งความมีระเบียบวินัยแม้ในยามที่ประเทศตกอยู่ภาวะวิกฤต ดังจะเห็นได้จากการเข้าแถวรับของบริจาค การเข้าแถวซื้อของในร้านสะดวกซื้อ และการซื้อน้ำดื่มในจำนวนที่จำกัดต่อคนตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีลักษณะอุปนิสัยเช่นนี้ คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาคน และพัฒนาประเทศชาติ

                              YouTube Preview Image

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นได้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยระบบการศึกษาเป็นแบบ 6-3-3-4  กล่าวคือ ระดับชั้นประถมศึกษา 6 ปี ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี และระดับอุดมศึกษา 4 ปี มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันทางการศึกษา สำหรับการศึกษาภาคบังคับได้ขยายจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ดังรายละเอียดในภาพที่ 1

                             

                                                ภาพ ระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น
                                ที่มาภาพ http://www.mext.go.jp/english/introduction/1303952.htm 
มาตรฐานหลักสูตรของชาติได้ถูกจัดทำขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม การกีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (The Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology : MEXT) ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนทุกๆ 10 ปี   สำหรับมาตรฐานหลักสูตรของชาติที่ใช้ในปัจจุบันเป็นมาตรฐานที่จัดทำเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยมีหลักการดังต่อไปนี้
1) สถานศึกษาสามารถสร้างหลักสูตรสถานศึกษาที่เหมาะสมเองได้
2) หลักสูตรสถานศึกษาต้องอยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานหลักสูตรของชาติ
3) การพิจารณาระดับการพัฒนาทางจิตใจและร่างกาย
ในระดับประถมศึกษาแบ่งเวลาเรียน 1 คาบเรียน เท่ากับ 45 นาที
ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย 1 คาบเรียน เท่ากับ 50 นาทีในการปรับมาตรฐานหลักสูตรของชาติครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2551 นั้น ในระดับประถมศึกษาได้เพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนประมาณ 10% ในวิชาภาษาญี่ปุ่น สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ และพลศึกษา  ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นก็ได้เพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนประมาณ 10% เช่นเดียวกัน ในวิชาภาษาญี่ปุ่น สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ พลศึกษา ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนของหน่วยกิตที่บังคับสำหรับจบการศึกษาจะต้องมีอย่างน้อย 74 หน่วยกิต

                        YouTube Preview Image

ชีวิตการเรียนที่น่าสนใจของการเรียนระดับมัธยมศึกษาในประเทศญี่ปุ่น
สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์ได้มีการสร้างหลักสูตรตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแต่ละครั้งได้มีจุดเน้นดังต่อไปนี้
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2494 และ 2495
-ผู้เรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้
-จากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันนำไปสู่การผลิตสื่อการเรียนการสอน
-วิธีการแก้ปัญหาโดยศึกษาวิธีการแก้ปัญหาจากประเทศเพื่อนบ้าน
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2501, 2502 และ 2503
-วิธีการสอนที่เน้นธรรมชาติของการเรียนรู้
-ในระดับประถมศึกษาเน้นหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
-ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายเน้นเนื้อหาในแต่ละรายวิชา
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2511, 2512 และ 2513
-เน้นกระบวนการสืบเสาะหาความรู้
-การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์
-ให้ความสำคัญกับการคัดเลือก ออกแบบสื่อการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2517 
-ปรากฏการณ์ธรรมชาติ  และวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
-วิธีการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน
-ผู้เรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2520, 2521
-การพัฒนาผู้เรียนตามลักษณะธรรมชาติของมนุษย์
-การนำเสนอกิจกรรมในรูปแบบ hands-on การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และมีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้
-เนื้อหาบูรณาการ
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2532
-เพิ่มการทดลองและการสังเกตมากขึ้น
-เพิ่มเนื้อหาเชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและสังคม
-พิจารณาความหลากหลายของสถานการณ์ที่แท้จริงของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2541
-เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สนุก
-มีชื่อวิชาทางวิทยาศาสตร์ใหม่ เช่น พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์บูรณาการ A วิทยาศาสตร์บูรณาการ B
-ปริมาณเนื้อหาลดลง 30% และจำนวนชั่วโมงเรียนแต่ละวิชาลดลง 10%
-ปรับปรุงการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนเป็นรายบุคคล เพิ่มวิชาเลือกในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และลดวิชาบังคับในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2551 และ 2552
-เพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
-เพิ่มกิจกรรมสืบเสาะหาความรู้ การสังเกต ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์
-จัดกรอบหลักสูตรวิทยาศาสตร์ในเนื้อหาการสอนเรื่อง พลังงาน อนุภาค ชีวิต และโลก
นอกจากนี้ญี่ปุ่นก็ได้กำหนดจุดประสงค์ของการเรียนวิทยาศาสตร์ในภาพรวมไว้ดังนี้
1) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคุ้นเคย สังเกต ปรากฏการณ์ธรรมชาติ
2) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถแก้ปัญหา
3) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างถ่องแท้
4) เพื่อให้ผู้เรียนมีวิธีการคิดทางวิทยาศาสตร์
          จากจุดเน้นของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าประเทศญี่ปุ่นได้ปลูกฝังเยาวชนของชาติซึ่งจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตให้รู้จักการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เนื้อหาที่นักเรียนได้เรียนในห้องเรียนสามารถเชื่อมโยงมาสู่การปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันได้ รวมทั้งเนื้อหาเชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและสังคม จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่พ่ายแพ้สงครามโลก เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดปรมาณู ทำไมวันนี้ถึงได้กลับกลายมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก หรือแม้แต่เหตุการณ์สึนามิเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศญี่ปุ่นก็ได้พิสูจน์ให้ประเทศอื่นๆ ได้เห็นแล้วว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำให้คนญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้   เราคงต้องเจาะลึกเพื่อเรียนรู้ประเทศนี้ให้มากยิ่งขึ้นขอบคุณข้อมูล : – อรสา ชูสกุล (สสวท.)
-Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology (MEXT) (2011). Principle Guide Japan’s Educational system. Retrieved from http://www.mext.go.jp/english/introduction/1033952.htm (22/05/2012)ขอบคุณรูปภาพ patrickmccoy.typepad.comwww.degj.com

About Auther : ต้นซุง Eduzones  (609 Posts)

International Education Columnist, Webmaster, Correspondent


Share this Story

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Translation

Englishภาษาไทย

คำค้น